โหมโรง

ชื่อหนัง : โหมโรง
คะแนน 7.7

โหมโรง

ประเภทหนัง: ดราม่า ครอบครัว ชีวประวัติ
ผู้กำกับ: วินัย ปฐมบูรณ์
นำแสดงโดย นพพล โกมารชุน รับบทเป็น ท่านครู
ปานเลขา ว่านม่วง รับบทเป็น นางโชติ
อรรถพร ธีมากร รับบทเป็น พันโทวีระ
ณัทธมนกาญจน์ ศรีนิกรโชติ รับบทเป็น ดวงใจ
วุฒิสิทธิ์ สืบสุวรรณ รับบทเป็น ประสิทธิ์
ปิติศักดิ์ เยาวนานนท์ รับบทเป็น เทิด

ดูเลยที่: Doofree4K

เรื่องย่อ  โหมโรง 
โหมโรง ละครโทรทัศน์แห่งความภาคภูมิใจในคุณค่าศิลปวัฒนธรรมความเป็นไทย อันเป็นรากของแผ่นดิน ความงดงามและความไพเราะจากเครื่องดนตรีไทยอย่าง “ระนาดเอก” เริ่มต้นบรรเลงขับขานไปพร้อมกับเรื่องราวอันเข้มข้นของ “ศร” บุรุษผู้ที่ได้รับการยกย่องให้เป็น “มหาคีตกวี” กับเส้นทางชีวิตมุ่งหน้าสู่ความเป็น “นักระนาดเอกมือหนึ่งของแผ่นดิน” บรมครูของนักดนตรีไทย ผู้ผ่านทั้งยุคทองที่รุ่งเรืองอย่างสูงสุด และยุคตกต่ำที่สุดของวงการดนตรีไทย ยอดคนระนาดเอกแห่งสยามประเทศ จะกลับมาโลดแล่นบนจอแก้ว
ยุครัชกาลที่ 5
“ศร” ผู้มีพรสวรรค์ทางด้านดนตรีตั้งแต่อายุเพียง 5 ขวบ เขาสามารถเล่นระนาดได้เองโดยไม่มีใครสอน แต่อาจจะด้วยที่ชีวิตของเขาเกิดมากับเสียงของวงปี่พาทย์ของผู้เป็นพ่อคือ”ครูสิน” หัวหน้าวงปี่พาทย์มีชื่อในอัมพวา สมุทรสงคราม พี่ชายของศรเองก็เป็นนักเลงปี่พาทย์มีฝีมือ แต่ด้วยเหตุนี้ทำให้นักเลงระนาดอีกหมู่บ้านหนึ่งมาดักฟันพี่ชายของเขาจนตายไปเมื่อเขาอายุได้เพียง 10 ขวบ จากนั้นมาครูสินจึงเลิกยุ่งเกี่ยวกับดนตรีโดยเด็ดขาด เพราะไม่อยากให้เกิดเรื่องแบบนี้ขึ้นกับใครในครอบครัวอีก
หลวงตาจึงได้ให้ข้อคิดกับครูสิน ว่าคนที่ฆ่าลูกชายคนโตนั้นคือผู้ที่ไม่เข้าใจดนตรีที่แท้จริง ครูสินจึงตัดสินใจกลับมาเปิดวงและรับศรเป็นลูกศิษย์ โอกาสที่ศรจะได้เรียนรู้ดนตรีไทยทุกชิ้นกลับมาสู่แสงสว่างอีกครั้ง ครูสินพร่ำสอนกับศรว่า “ความงามของดนตรีคือ ทำให้คนมีจิตใจงดงามตามท่วงทำนอง อย่าได้ใช้ดนตรีไปในทางที่เสื่อมโดยเด็ดขาด” คำเหล่านี้จดจำอยู่ในใจศรเสมอมา
แต่เมื่อผันเข้าสู่วัยหนุ่ม ศรกลายเป็นดาวโดดเด่นในอัมพวาจนมีชื่อเสียงมีคนในพื้นที่ใกล้เคียงมาคอยเฝ้าชื่นชม ความเหลิงทำให้เขาเริ่มใช้ดนตรีในทางผิด จนกระทั่งวันหนึ่งเมื่อมีวงราชบุรีมาท้าประชัน พ่อตัดสินใจไม่เอาศรลงตีระนาดเอก แต่กลับให้ไปตีฆ้องวงแทน เพื่อเป็นการดัดสันดาน แต่เมื่อให้คนในวงคนอื่นเล่นระนาดแทนก็เกิดทำให้เจ้าเมืองราชบุรีไม่พอใจ หาว่าสบประมาทฝีมือกันที่ครูสินไม่เอาของดีออกมาแสดง ในที่สุดศรก็ได้มาตีระนาดเอกและทำให้”พ่อมั่น” ระนาดเอกแห่งราชบุรีที่มาประชันนั้นต้องพ่ายแพ้ไป
ต่อมาครูสินจึงพาศรเข้ามาสู่บางกอก เพราะอยากให้ศรได้เปิดหูเปิดตาดูในงานประชันระนาดว่ายังมีคนเก่งอีกมาก พ่อจึงฝากฝังไว้กับครูแก้วเพื่อนของพ่อ แต่แล้วพ่อมั่น ซึ่งได้มาอยู่กับวงครูแก้วเกิดกลัวคู่ประชันขึ้นมาและต้องการจะแก้แค้นศรก็เลยหาเรื่องหลบการประชัน เพราะคู่ต่อสู้นั้นฝีมือฉกาจนัก และขอให้ศรขึ้นประชันแทน ศรด้วยความอยากอวดฝีมืออยู่แล้วจึงตัดสินใจขึ้นโดยไม่ลังเล ขุนอินเมื่อได้ยินเสียงระนาดก็ตีทับขึ้นมาทันที ความแข็งกร้าวดุดันของทางระนาดขุนอินนั้นไม่มีทางที่ใครจะทานได้ ศรจึงพ่ายแพ้กลับไปอย่างยับเยิน ศรพยายามฝึกตีระนาดให้ได้อย่างขุนอิน แต่ก็ทำไม่ได้เสียที จนวันนึงศรก็ได้พบทางระนาดของตน พระองค์ชายเล็กจากในวังที่เสด็จมาตามหานักระนาดมือเอก มาเจอศรจึงชวนเข้าไปอยู่ในวัง
เมื่อศรได้เข้ามาอยู่ที่วัง ก็ได้ครูหมึกและครูเทียนช่วยกันสั่งสอน และศรก็ได้พบรักกับแม่โชติ สมเด็จให้ศรประชันกับขุนอิน ศรกลัวจึงหนีกลับไปที่อัมพวาแต่ครูเทียนก็ไปตามศรกลับมาประชันจนได้ ครูเทียนให้สติศรจนศรได้ค้นพบตัวเองและทางระนาดของตัวเอง จึงสามารถเอาชนะขุนอินได้ ส่วนเรื่องของแม่โชติก็กลับกลายเป็นดี นายศรได้พิสูจน์ตัวเองให้ครอบครัวแม่โชติยอมรับจนในที่สุดทั้งสองได้ครองคู่ชีวิตกัน
ยุครัชกาลที่ 8
เวลาผ่านมาจนถึงสมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม นายศรได้กลายเป็น”ท่านครู” ของลูกศิษย์ลูกหาหลายคนที่ชุมชนบ้านบาตรเป็นที่นับหน้าถือตาของคนดนตรีทั่วไทย ทิวเพื่อนเก่าเพื่อนแก่เองก็ถึงกับส่งลูกชายคือนายเทิด มาอยู่ร่วมวงด้วยเพราะนายเทิดรักการตีฉิ่งและวงปี่พาทย์เป็นชีวิตจิตใจ ช่างเป็นลูกไม้ที่หล่นได้ไกลต้นจากทิวผู้เป็นพ่อเหลือเกิน ลูกชายท่านครู คือประสิทธิ์รับราชการเป็นล่ามอยู่และยังจบมาจากญี่ปุ่น วันนึงประสิทธิ์ขนเปียโนเข้าบ้าน ในหนแรกนายเทิดคิดว่าคงเกิดเรื่องใหญ่แน่แล้ว เพราะท่านครูเองเป็นถึงบรมครูเครื่องดนตรีไทย แต่ลูกชายกลับนำเครื่องดนตรีสากลเข้าบ้าน แต่เหตุการณ์ครั้งนี้ทำให้เทิดได้เรียนรู้ว่า สิ่งที่แตกต่างกันนั้นสามารถผสานกันได้อย่างลงตัวเมื่อท่านครูลงไม้ระนาดตีคลอไปกับเพลงที่ประสิทธิ์เล่นได้อย่างเหมาะเจาะลงตัว ท่านครูบอกกับทุกคนว่า “ถ้าเข้าใจสิ่งที่เรามีอยู่การจะเข้าใจสิ่งใหม่ๆ ที่เข้ามานั้นไม่ได้ยากเกินไป แล้วเราเองก็ยังได้ฟังเสียงระนาดที่เป็นแบบของเราอยู่ เสียงเปียโนที่เป็นแบบของเขาก็ไม่ได้เสียไปเช่นกัน”
พันโทวีระที่ดูแลเรื่องวัฒนธรรมนี้อยู่ ด้วยขณะนั้นบ้านเมืองอยู่ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลง มีความขัดแย้งหลายอย่างเกิดขึ้นในสังคม เป็นช่วงเวลาที่ประเทศไทยรับเอาอารยธรรมจากต่างชาติเข้ามาปฏิบัติด้วยถือว่านี่คือสิ่งศิวิไลซ์ที่ประชาชนควรถือปฏิบัติ และนำชาติด้วยคำว่า “เชื่อผู้นำ ชาติพ้นภัย” ในยุคนั้นมีการออกกฎมากมายเกี่ยวกับดนตรี เช่นการจะแสดงดนตรีไทยต้องมีบัตรนักดนตรีเท่านั้น ห้ามนั่งเล่นดนตรีกับพื้น เป็นต้น ข้อห้ามเหล่านี้ล้วนทำให้นักดนตรีไทยทำมาหากินยากลำบากขึ้น จนทำให้นักระนาดบางคนที่มีฝีมือดีมากอย่างเปี๊ยกกลับต้องหันเหชีวิตไปรับจ้างแบกข้าวสาร จนเกิดอุบัติเหตุข้อมือหักไม่สามารถเล่นระนาดได้อีก เปี๊ยกทำใจไม่ได้จึงตัดสินใจคร่าชีวิตตัวเองด้วยการผูกคอตาย
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนั้นสะเทือนใจทุกคนเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะท่านครู … ความขัดแย้งทั้งด้านสงครามก็ดำเนินรุนแรงขึ้น ขณะที่ความขัดแย้งทางวัฒนธรรมระหว่างคนในชาติเองก็รุนแรงตามเป็นลำดับ สิ่งที่เกิดขึ้นนี้ ก่อให้เกิดผลกระทบ และสร้างความปวดร้าวแก่นักดนตรีไทยและคนไทยทุกคน รวมทั้งท่านครูที่แม้จะพยายามอธิบายถึงความชัดเจนในความเป็นตัวตนของไทยแล้วหากจะรับสิ่งอื่นก็ต้องรับเข้ามาอย่างเข้าใจ จึงจะผสานไปด้วยกันได้ พันโทวีระดูจะไม่เข้าใจ ท่านครูจึงจบการสนทนาด้วยการเดินไปที่ระนาดและท่านได้ใช้ความกล้าหาญในเฮือกสุดท้ายแห่งชีวิตท่านไปกับการบรรเลงเพลง แสนคำนึง ขึ้นต่อสู้เพื่อพิสูจน์คุณค่าแห่งดนตรีและวัฒนธรรมไทยที่ท่านรักดั่งชีวิต ทำให้พันโทวีระได้ฉุกคิด เขาได้เข้าใจถึงเสียงพูดของท่านครูที่ดังไปเข้าหูเขาในวันนั้นแล้ว พันโทวีระยอมจากไปแต่โดยดีในที่สุด
จากนั้นไม่นานท่านครูก็สิ้นลมลงด้วยความหวังว่าสิ่งเหล่านี้ที่ท่านครูเองได้ต่อสู้มานั้นจะไม่หายไปไหน ในงานศพของท่านครู เหล่านักดนตรีไทยได้มารวมตัวกันและบรรเลงเพลงร่วมกันส่งวิญญาณครูและเหมือนเป็นการส่งสัญญาณให้ครูได้รู้ว่าตั้งแต่นี้ไปคือโหมโรงที่จะสืบทอดปณิธานของท่านครูสืบไปด้วยเช่นกัน

ดูรีวิวจากIMDB

หรือดูได้ที่ โหมโรง